หลักสูตรอิงมาตรฐาน
หลักสูตรอิงมาตรฐาน หมายถึงหลักสูตรที่มีมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมาย หรือกรอบทิศทางในการกำหนดเนื้อหา ทักษะกระบวนการ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถบรรลุมาตรฐานที่กำหนดเป็นหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและท้องถิ่นมีความยืดหยุ่นเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายกล่าวโดยรวมก็คือการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standards-based  curriculum) การเรียนการสอนอิงมาตรฐาน (Standards-based  instruction) และการประเมินผลอิงมาตรฐาน (Standards-based assessment)

ลักษณะของหลักสูตรรูปแบบต่างๆ
1.              หลักสูตรรายวิชา (Subject Curriculum, Subject Matter Curriculum or Subject Centered Curriculum)
เป็นรูปแบบการจัดหลักสูตรที่เก่าแก่ที่สุดและยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน หลักสูตรประเภทนี้ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาสารัตถนิยม (essentialism) และปรัชญานิรันตรนิยม หรือปรัชญาสัจวิทยานิยม (perenialism) เน้นการถ่ายทอดเนื้อหาวิชา สาระ และความรู้ของวิทยาการต่าง ๆ เป็นหลักในการจัดการเรียนรู้ ใช้วิธีสอนแบบบรรยายโดยมีครูผู้สอนเป็นศูนย์กลาง ดังเช่น หลักสูตรการศึกษาของไทย ปี พ.ศ. 2493
2.              หลักสูตรรวมวิชา (Broad-Field curriculum)
     เป็นรูปแบบหลักสูตรที่มีการผสมผสานความรู้ โดยรวมวิชาต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาสาระใกล้เคียงกันมารวมกันเป็นหมวดวิชาเดียวกัน เช่น หมวดวิชาคณิตศาสตร์จะรวมวิชา เลขคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ เรขาคณิตไว้ด้วยกัน การจัดการเรียนรู้ยึดครูเป็นศูนย์กลางเน้นการถ่ายทอดเนื้อหาสาระ การวัดผลการเรียนรู้จึงมุ่งเน้นวัดความรู้ที่ได้เป็นหลัก
    ตัวอย่างของหลักสูตรแบบนี้คือ หลักสูตรการศึกษาของไทย ปี พ.ศ. 2503
3.              หลักสูตรแกนวิชา (Core Curriculum)
หลักสูตรรูปแบบนี้จัดตามปรัชญาปฏิรูปนิยม (reconstructionism) เป็นการรวบรวมเนื้อหาความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนเข้าด้วยกันให้มีความสัมพันธ์และผสมผสาน กัน ให้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้และคำนึงถึงความต้องการของสังคมเป็นหลัก การจัดการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักการแก้ปัญหา เข้าใจชีวิตและสังคม การวัดผลการเรียนรู้เน้นวัดพัฒนาการทุก ๆ ด้านของผู้เรียนในวงการศึกษาไทยรู้จักหลักสูตรแกนกลางในนามของ "การเรียนการสอนแบบหน่วย" ตัวอย่างของหลักสูตรแบบนี้คือ หลักสูตรประถมศึกษาและหลักสูตรมัธยมศึกษา พุทธศักราช 2521 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533

4.              หลักสูตรสัมพันธ์วิชา (Correlated Curriculum)
      เป็นรูปแบบของหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดความสัมพันธ์กันของรายวิชาที่เกี่ยวข้องกัน โดยนำเอาเนื้อหาของวิชาต่าง ๆ ที่สอดคล้องหรือส่งเสริมซึ่งกันและกันมาเชื่อมโยงเข้าหากันแล้ววิชาสอนเนื้อหาเหล่านั้นในคราวเดียวกัน แต่ถึงกระนั้นความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวิชาก็ยังคงอยู่ เช่น นำวิชาศิลปะไปสัมพันธ์กับวิชาประวัติศาสตร์ทำหลักเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์มาเชื่อมโยงกับวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นต้น การจัดการเรียนการสอนยึดครูเป็นศูนย์กลาง การวัดผลการเรียนรู้ยังเน้นพัฒนาการด้านเชาวน์ปัญญา

5.              หลักสูตรประสบการณ์ (Experience Curriculum)
เป็นรูปแบบของหลักสูตรที่เน้นประสบการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก เป็นหลักสูตรที่มุ่งแก้ไขการเรียนรู้ที่ยึดครูผู้สอนเป็นศูนย์กลาง โดยไม่คำนึงถึงความต้องการและความสนใจของผู้เรียน เช่น หลักสูตรที่เน้นเนื้อหาวิชาเป็นหลัก หลักสูตรนี้ที่ยึดหลักการที่ว่า การเรียนรู้เกิดจากประสบการณ์และประสบการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ดังนั้นการจัดหลักสูตรจึงเน้นเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ผู้เรียนต้องรู้จักวิธีการแก้ปัญหาลงมือกระทำ วางแผนด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ด้วยการกระทำ (learning by doing)การจัดการเรียนรู้ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เน้นการแก้ปัญหา ครูต้องเป็นนักวางแผน นักจิตวิทยา นักแนะแนวและนักพัฒนาการ การประเมินผลการเรียนรู้ จะประเมินพัฒนาการของผู้เรียนในทุก ๆ ด้าน ยึดปรัชญาการศึกษาแบบพิพัฒนาการ (progressivism)

6.               หลักสูตรแบบบูรณาการ (Integrated Curriculum)
เป็นหลักสูตรที่พัฒนามาจากหลักสูตรกว้างโดยนำเอาเนื้อหาของวิชาต่าง ๆ มาหลอมรวมกัน ทำให้  ความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวิชาหมดไป โดยรวมเอาประสบการณ์การเรียนรู้จากหลาย ๆวิชาที่เรียกว่า “มวลประสบการณ์” มาจัดเป็นหมวดหมู่ของประสบการณ์เป็นการบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกัน จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่ต่อเนื่อง มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต และพัฒนาผู้เรียนในทุก ๆ ด้าน การจัดการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การวัดผลการเรียนรู้จะวัดพัฒนาการทุก ๆ ด้าน
ตัวอย่างของหลักสูตรประเภทนี้คือ หลักสูตรประถมศึกษา ปี พ.ศ. 2521


2. ทฤษฎีหลักสูตร
        ทฤษฎี(Theory)หมายถึง หลักการที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว และกำหนดขึ้นมาเพื่อจะได้ทำหน้าที่อธิบายการกระทำหรือปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง(อาภรณ์  ใจเที่ยง.2525:1 อ้างถึงใน รศ.ดร.ประพิมพ์พรรณ โชคสุวัฒนสกุล.หลักสูตรมัธยมศึกษา.2534:34)

ความหมายของทฤษฎีหลักสูตร
   ทฤษฎีหลักสูตร (Curriculum Theory) หมายถึง ข้อความที่อธิบายความหมายของหลักสูตรโดยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ชี้นำแนวทางการพัฒนาการใช้และการประเมินผลหลักสูตรประกอบกัน
   (รศ.ดร.ประพิมพ์พรรณ โชคสุวัฒนสกุล.หลักสูตรมัธยมศึกษา.2534:34)

ทฤษฎีหลักสูตรชนิดต่างๆ
ทฤษฎีหลักสูตรแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้
1.     ทฤษฎีแม่บท เป็นทฤษฎีหลักที่กล่าวถึงหลักการ กฎเกณฑ์ทั่วๆไป ตลอดจนโครงสร้างของหลักสูตร
2.     ทฤษฎีเนื้อหา เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับเนื้อหา กล่าวถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ
3.     ทฤษฎีจุดประสงค์ เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของหลักสูตร และกล่าวถึงว่าจุดประสงค์นั้นๆได้อย่างไร
4.     ทฤษฎีดำเนินการ เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงว่า จะทำหรือดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างไร (กาญจนา คุณารักษ์.2527:5 อ้างถึงใน โกสินทร์ รังสยาพนธ์.2526:25)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น