จุดมุ่งหมายทางการศึกษา
จุดมุ่งหมาย
คือจุดที่ต้องพยายามไปให้ถึงเป็นสิ่งที่หวังไว้ในอนาคต เป็นเครื่องบอกทิศทางให้ผู้ทำงานอย่างหนึ่งพยายามไปให้ถึงจุดนั้น เปรียบเสมือนผู้กำหนดทิศทาง ดังนั้นจุดมุ่งหมาย
ทางการศึกษาจึงเป็นการกำหนดทิศทางของกิจกรรมทางการศึกษาให้ได้ดังที่พึงประสงค์ไว้
การกำหนดจุดมุ่งหมายเป็นงานที่มีความสำคัญ
เพราะจุดมุ่งหมายที่กำหนดขึ้นจะเห็นแนวทางในการกำหนดเนื้อหา การเลือกวิธีสอน กิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนการวัดผล จึงควร
มีลักษณะที่ชัดเจนและเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ
สิ่งที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่าต้องรู้ให้แน่ชัดเสียตั้งแต่ต้นว่า วิชานี้ บทนี้ จะต้องวัดอะไรบ้าง จะต้องวัดมากน้อยอย่างละเท่าไร และจะต้องวัดด้วยวิธีใด
ซึ่งจัดว่าเป็นสิ่งแรกที่สำคัญที่สุดของกระบวนการวัดผล ดังนั้นการที่จะตอบคำถามดังกล่าวนั้นได้
จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงจุดมุ่งหมายของวิชา
หรือบทเรียนนั้นเสียก่อนว่าต้องการให้เกิดสิ่งใดกับผู้เรียนบ้าง จึงจะสามารถทำการวัดได้อย่างถูกต้อง หากพิจารณาจากกระบวนการสอนที่เรียกว่า OLE
จะประกอบด้วย
1) O = Objective = จุดมุ่งหมาย
2) L = Learning Experience =
การจัดประสบการณ์การเรียนการสอน
3) E = Evaluation = การประเมินผล
ซึ่งทั้ง 3
ส่วนจะต่อเนื่องเป็นวงจรการเรียนการสอน
แสดงเป็นวงจรไว้ดังภาพ
แผนภาพ
วงจรการเรียนการสอน
ที่มา : ไพฑูรย์ ลินลารัตน์
2526 : 106
จากวงจรการเรียนการสอน จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบทั้ง 3
ส่วน มีความเกี่ยวข้องต่อเนื่องกันคือ
1. จุดมุ่งหมาย (Objective)
การเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยเน้นที่เป้าหมายของการสอน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมทั้ง
3 ด้าน ได้แก่
ด้านความรู้ความคิด (ด้านพุทธิพิสัย)
ด้านเจตคติ (ด้านจิตพิสัย) คือการได้เห็นคุณค่า เห็นความสำคัญ
และด้านทักษะ (ด้านทักษะพิสัย) คือการปฏิบัติได้ถูกต้องตามวัย
ดังนั้น
ในการสอนจึงต้องตั้งจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทั้ง 3
ด้าน
มิใช่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว
จึงจะถือว่าเป็นการสอนที่สมบูรณ์
ตลอดจนมุ่งให้ผู้เรียนสามารถนำประสบการณ์ใหม่ไปใช้ได้
2. การเรียนการสอน
(Learning Experience) เป็นกิจกรรมที่สำคัญในกระบวนการทางการศึกษา
เพราะเป็นการนำหลักสูตรไปใช้ปฏิบัติให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ คุณภาพของการศึกษาจะดีหรือไม่นั้น
การสอนเป็นสำคัญซึ่งจะทำหน้าที่พัฒนาและเสริมสร้างผู้เรียนให้เกิด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และมีประสบการณ์การเรียนรู้เพิ่มขึ้น
3. การประเมินผล
(Evaluation) เป็นการติดตามผลการจัดการเรียนการสอนว่าผู้เรียนบรรลุผลมากน้อยเพียงใด
ตามธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละคนขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางสติปัญญาและทางร่างกาย ซึ่งมีความแตกต่างกัน
การประเมินผลการเรียนจะเชื่อมโยงกับจุดมุ่งหมายทางการศึกษาและวิธีการเรียน การสอน
กล่าวคือ
ผู้สอนมักจะตั้งความหวังก่อนสอนว่าต้องการจะให้ผู้เรียนรู้อะไร เกิดพฤติกรรมอะไร หรือทำอะไรได้บ้าง ซึ่งความหวังนี้เรียกว่า จุดมุ่งหมายทางการศึกษา ซึ่งมี 3
ด้าน คือ
พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย
วิธีการวัดและประเมินผลจึงต้องเกี่ยวพันกับจุดมุ่งหมายการศึกษา
ดังนั้นครูหรือผู้ประเมินต้องสามารถตีความหมายของจุดมุ่งหมายรายวิชานั้น ๆ
ให้ถูกต้อง ครอบคลุมและชัดเจน จึงจะสามารถวัดและประเมินได้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ แต่ปัญหาที่มักพบในทางปฏิบัติ คือ จากจุดมุ่งหมายของรายวิชาเดียวกัน ครูผู้สอนแต่ละคนมักจะตีความต่างกันไป โดยเฉพาะในแง่ของขอบข่าย
อันส่งผลให้การดำเนินการสอนและการสอบวัดในประเด็นที่แตกต่างกันไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น