DIGITAL EDUCATION การศึกษาบนโลกดิจิทัล กับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
ในยุคที่ทุกสิ่งเข้าสู่โลกของดิจิทัล (Digital) ทั้งเรื่องของแนวโน้มการตลาด สื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนหรือธุรกิจ ไปจนถึงภาครัฐฯ สำหรับส่วนของการศึกษาเองก็มีการตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีและสารสนเทศที่มากมายมาประยุกต์ใช้กับผู้เรียน เช่น นักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาเช่นกัน
ตัวผมเองได้เข้าร่วมเครือข่ายของอาจารย์ ผ่านเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษา (ควอท.) หรือ Professional and Organizational Development Network of Thailand Higher Education ที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดในเรื่องของการปรับปรุงการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาที่เกี่ยวกับ “นวัตกรรมด้านการเรียนการสอน” ในนามของมหาวิทยาลัยร่วมกับอาจารย์ และนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายๆ สถาบันในประเทศไทย ทั้งศาสตร์ด้านสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทุกศาสตร์ต่างยอมรับว่า เทคโนโลยีด้าน ICT มีผลต่อการเรียนการสอนของอาจารย์ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ผู้เรียนในปัจจุบัน

ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
เพราะในตอนนี้ผู้เรียน หรือนักเรียน นักศึกษา มีแนวโน้มที่เปลี่ยนไป เช่นกันกับผู้บริโภคในภาคการค้าและธุรกิจ เพียงแค่เปลี่ยนจากการซื้อ-ขาย หรือการทำโฆษณาออนไลน์  เป็นแนวโน้มที่เปลี่ยนไปในการศึกษา หรือการเรียนรู้แทน อีกทั้งได้ข้อสรุปจากอาจารย์ และนักวิชาการส่วนใหญ่ระบุแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ว่า “การเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 21 (Changing Education Paradigms, Ken Robinson, 2006 )” โดยมีข้อมูลที่ถูกตกผลึก และพัฒนาออกมาในประเทศไทย โดยท่าน  ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช (หนังสือวิถีสร้างการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21) ที่ตอกย้ำกับสายวิชาการในแง่ของแนวคิดที่ว่า สาระวิชาความรู้แม้จะมีความสำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เพื่อมีชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ 21 เพราะปัจจุบันการเรียนรู้สาระวิชา (Content หรือ Subject Matter) ส่วนมากจะเป็นการเรียนรู้จากผู้เรียน หรือนักศึกษา โดยการค้นคว้าเองผ่านสารสนเทศจำนวนมหาศาลบนโลกอินเทอร์เน็ตที่เป็นสื่อหลักที่แซงหน้าหนังสือ และตำราไปแล้ว

การเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 นี้ ครูหรืออาจารย์จะมีเพียงบทบาทในเชิงการช่วยแนะนำและออกแบบกิจกรรม ไปจนถึงการสร้างเงื่อนไขที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนเองได้ ในรูปแบบการศึกษา และนวัตกรรมการสอนก็มีหลากหลายรูปแบบแยกย่อยออกไปตามคุณลักษณะของผู้เรียนหรือนักศึกษา อาจจะสรุปได้ว่า ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 นั้น จะต้องมีทักษะเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำการวิเคราะห์

ทักษะระดับพื้นฐานที่เคยมีมาก่อน

Reading หรือทักษะการอ่าน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าถึงองค์ความรู้ หรือสารสนเทศ
Writing หรือทักษะการเขียนเพื่อเป็นการเริ่มต้นถึงทักษะของการถ่ายทอดและการสื่อสาร
Arithmetics หรือทักษะการคำนวณ หรือการคิดเชิงคณิตศาสตร์-ตรรกะศาสตร์ เพื่อใช้ในการคิดแก้ปัญหาชีวิตประจำวันทักษะระดับมาตรฐานที่เกิดขึ้นในศตวรรตที่ 21
Critical thinking & Problem Solving หรือทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหาโดยอาศัยการเรียนรู้และสังเกตุ
Creativity & Innovation หรือทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ และการคิดค้นนวัตกรรม
Cross-Cultural Understanding ทักษะการเรียนรู้บนความเข้าใจด้านวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพื่อสร้างระเบียบ
Collaboration, Teamwork & Leadership ทักษะด้านการทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ
Communications, Information & Media Literacy ทักษะด้านการสื่อสารและมีความรู้ในการสืบค้นสื่อ
Computing & ICT literacy ทักษะด้านการใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และข้อมูลสารสนเทศรูปแบบดิจิทัล
Career & Learning Skills ทักษะที่ตรงกับความชำนาญในการประกอบอาชีพและการพัฒนาการเรียนรู้ผสมเข้ากับการทำงาน
สำหรับลีลาเทคนิคการสอน หรือการเตรียมความพร้อมในรูปแบบของอาจารย์นั้น ต้องปรับปรุงทักษะสำหรับผู้เรียนจากเดิมแค่ 3 ข้อพื้นฐาน ให้กลายเป็น 10 ข้อที่ดูลำบาก เอาเข้าจริงหากมองโดยผิวเผินอาจจะคิดว่าเป็นไปได้ยาก แต่ด้วยคุณลักษณะของผู้เรียนที่อยู่ในศตวรรตที่ 21 นั้น ความท้าทายที่แท้จริงกลับอยู่ในเรื่องของ Critical thinking & Problem Solving, Communications, Information & Media Literacy และ Computing & ICT literacy เพียง 3 ข้อ

เท่านั้นที่ดูจะต้องมีการปรับตัวในแวดวงวิชาการกันขนานใหญ่ เพราะด้วยรูปแบบของการติดต่อสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟน เช่น Facebook, LINE, Twitter และ Instagram ที่ผู้เรียน หรือนักศึกษานิยมใช้ในการแสดงออกในเรื่องความสนใจของตน และการใช้ Google และสารสนเทศจำนวนหมื่นล้านล้านมหาศาล หลายแห่งบนเว็บไซต์ก็สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง แซงหน้าสิ่งที่ผู้สอน หรืออาจารย์เตรียมพร้อมให้เกิดภาวะที่ผู้เรียนหรือ “เด็กรุ่นใหม่” (คน GenC) ให้ความสำคัญกับศาสตร์แขนงอื่นน้อยลง และเจาะจงเพียงสิ่งที่ตนถนัดมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งอาจารย์ หรือห้องเรียน ไปจนถึงไม่ต้องพึ่งสถาบัน

เพราะคน  GenC มักจะใช้ความรู้เฉพาะด้านโดยศึกษาผ่านบนอินเทอร์เน็ตในการติดตามและศึกษา ไม่ค่อยอยากจะทำงานในบริษัท เลือกที่จะเป็นการทำงานในระยะสั้น หรือรูปแบบ Freelance ไม่ให้ความสำคัญกับวุฒิ เพราะเชื่อมั่นใน Skill หรือทักษะเฉพาะด้านที่ตนถนัด ไม่ชอบกฎเกณฑ์ล้อมกรอบ และจุดประสงค์หลักของชีวิตคือ การเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเป็นนายตัวเอง แต่ด้วยรูปแบบของสังคม และระบบการทำงานในประเทศไทยยังคงต้องใช้วุฒิในการศึกษาเป็นใบเบิกทางส่วนใหญ่ คน GenC หรือคนรุ่นใหม่ก็ยังต้องใช้คำว่า “จำใจ” เข้ามาใช้เวลาศึกษาในสถาบันตามปกติ แตกต่างจากเดิมเพียงแค่เรื่องของการเรียนนั้น สถิติความสนใจ หรือสมาธิของคน GenC หรือผู้เรียนในศตวรรตที่ 21 นั้นมีอัตราความสนใจ และตั้งใจเพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้น

ดังนั้น การจะให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต่อคนกลุ่มนี้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนอย่างละเอียด รูปแบบการทำงานของผู้สอนจึงต้องปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับการนำเสนอบทเรียนที่แตกต่างจากสมัยก่อนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

สื่อดิจิทัลเบี่ยงเบนความสนใจ และชั่วโมงโฮมรูมบน Facebook
ห้องสมุด ณ ตอนนี้เต็มไปด้วยหนังสือดีๆ ที่ไม่ใช่แค่ไม่มีคนหยิบ หรือยืมไปอ่าน แม้แต่จะเอาไปถ่ายเอกสารยังไม่ค่อยจะมี อันที่จริงห้องสมุดกลายเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยหนังสือดีๆ ที่ไม่เคยเปลี่ยนตำแหน่งจากชั้นวางเสียมากกว่า สื่อดิจิทัลอย่างวิดีโอ อย่างตัวอย่างภาคปฏิบัติ หรือ Tutorials บนเว็บไซต์ YouTube กลายเป็นแหล่งค้นคว้าขนาดใหญ่สำหรับผู้เรียน ณ เวลานี้ ทั้งที่เกิดจาก User Generate Content ขึ้นมาเอง หรือจากอาจารย์สถาบัน สำหรับตัวผมก็ต้องยอมรับว่า การบันทึกการสอนในชั่วโมงด้วยโปรแกรมบันทึกการเรียนการสอนย้อนหลัง มันไม่ได้ช่วยวัดความอยากรู้อยากเห็น อยากศึกษาหรือทบทวนจากผู้เรียนเลย กลับคิดว่าเป็นเพียงการลงทุนที่เสียเปล่า เมื่อไปเห็นสถิติของผู้เรียนในรายวิชาที่เข้าไปเปิดดู การเรียนการสอนย้อนหลังนั้นอยู่ที่ 0.67 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนของผู้เรียนรายวิชาทั้งหมด เหตุผลที่พอจะคาดเดาได้จากการสอบถามก็ได้เพียงข้อคิดว่า ผู้เรียนไม่เคยอยากจะทบทวนรายวิชาที่ผู้สอนได้สอนย้อนหลัง ผู้เรียนต้องการวิดีโอที่เป็นสิ่งที่ผู้สอนแนะนำเทคนิค หรือทบทวนบทเรียนแบบสรุปพร้อมตัวอย่างให้เข้าใจในเวลา 20-50 นาทีมากกว่า ด้วยเหตุผลสนับสนุนที่ว่า วิดีโอที่บันทึกจากระบบบันทึกการเรียนการสอนในชั่วโมงเรียนนั้น มันมีระยะเวลายาวเกินไป และมีการทิ้งระยะความเข้มข้น หรือการขัดจังหวะปรากฏตลอดช่วงการบันทึก ก็กลายเป็นว่าผลลัพธ์นี้สอดคล้องกับความสนใจ และสมาธิของคน GenC ที่มีพื้นฐานในแง่การรับรู้สารสนเทศ และการเรียนรู้ที่ 20 นาทีนั่นเอง กลายเป็นว่าสำหรับผมนั้น สื่อดิจิทัลที่เราใช้ทำการตลาดให้ลูกค้าสนใจมาตลอด ตามหลักของ Inbound Marketing การตลาดสมัยใหม่ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการศึกษา

เป็นไปได้ว่า บทเรียนสำหรับผู้เรียนบนสื่อดิจิทัล ก็เหมือนเครื่องมือการตลาดตัวหนึ่งที่ต้องทำ Content Marketing เรียกความสนใจให้เกิด Attraction และ Convert เพียงแค่เปลี่ยนจาก Visitor (ผู้เยี่ยมชม) เป็น Customer (ลูกค้า) เป็นการ Convert เปลี่ยน Visitor (ผู้เยี่ยมชมซึ่งอาจจะเป็นผู้เรียนธรรมดา หรือคนทั่วไป) ให้กลายเป็น Learners (ผู้เรียนที่แท้จริง) ที่สนใจในบทเรียนของเราอย่างแท้จริง ดังนั้นเครื่องมือในการทำการตลาด หรือการศึกษานั้นก็คือเครื่องมือที่คล้ายกัน คือ Social Media หรือสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งบนเว็บไซต์ และสมาร์ทโฟน เช่น Blog, Facebook, Google Hangout และชั่วโมงเรียน E-Classroom รูปแบบดิจิทัลสมบูรณ์อย่าง Google Classroom (ใช้ได้เฉพาะสถานศึกษา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น