หลักการวัดทางการศึกษา
การวัดทางการศึกษา มีหลักการเบื้องต้น ดังนี้
 1. นิยามสิ่งที่ต้องการวัดให้ชัดเจน  ดังที่กล่าวไว้ในลักษณะการวัดว่า การวัดทางการศึกษาเป็นการวัดทางอ้อม  การที่จะวัดให้มีคุณภาพต้องนิยามคุณลักษณะที่ต้องการวัดให้ตรงและชัดเจน  การนิยามนี้ มีความสำคัญมาก  ถ้านิยามไม่ตรงหรือไม่ถูกต้อง  เครื่องมือวัดที่สร้างตามนิยามก็ไม่มีคุณภาพ  ผลการวัดก็ผิดพลาด  คือ วัดได้ไม่ตรงกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด
          2. ใช้เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ  หัวใจสำคัญของการวัด คือ สามารถวัดคุณลักษณะได้ตรงตามกับที่ต้องการวัดและวัดได้แม่นยำ  โดยใช้เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ  คุณภาพของเครื่องมือมีหลายประการ  ที่สำคัญคือ มีความตรง (validity) คือวัดได้ตรงกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด และมีความเที่ยง (reliability) คือวัดได้คงที่ คือวัดได้กี่ครั้งก็ให้ผลการวัดที่ไม่เปลี่ยนแปลง
             3.  กำหนดเงื่อนไขของการวัดให้ชัดเจน  คือกำหนดให้แน่นอนว่าจะทำการวัดอะไร  วัดอย่างไร  กำหนดตัวเลขและสัญลักษณ์อย่างไร
ขั้นตอนการวัดทางการศึกษา
        1. ระบุจุดประสงค์และขอบเขตของการวัด  ว่าวัดอะไร วัดใคร
        2. นิยามคุณลักษณะที่ต้องการวัดให้เป็นพฤติกรรมที่วัดได้
        3. กำหนดวิธีการวัดและเครื่องมือวัด
        4.  จัดหาหรือสร้างเครื่องมือวัด  กรณีสร้างเครื่องมือใหม่ดำเนินการตามขั้นตอน  ดังนี้
             4.1 สร้างข้อคำถาม เงื่อนไข  สถานการณ์  หรือสิ่งเร้า  ที่จะกระตุ้นให้ผู้ถูกวัดแสดงพฤติกรรมตอบสนองออกมาเพื่อทำการวัด  โดยข้อคำถามเงื่อนไข  สถานการณ์  หรือสิ่งเร้าดังกล่าวต้องตรงและครอบคลุมคุณลักษณะที่นิยามไว้
             4.2 พิจารณาข้อคำถาม เงื่อนไข  สถานการณ์  หรือสิ่งเร้า โดยอาจให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเนื้อหาและทางด้านวัดผลช่วยพิจารณา
           4.3 ทดลองใช้เครื่องมือ  กับกลุ่มที่เทียบเคียงกับกลุ่มที่ต้องการวัด
           4.4 หาคุณภาพของเครื่องมือ  มีคุณภาพรายข้อและคุณภาพ เครื่องมือทั้งฉบับ
           4.5 จัดทำคู่มือวัดและการแปลความหมาย
           4.6 จัดทำเครื่องมือฉบับสมบูรณ์
      5.  ดำเนินการวัดตามวิธีการที่กำหนด
      6. ตรวจสอบและวิเคราะห์ผลการวัด
7. แปลความหมายผลการวัดและนำผลการวัดไปใช้


ที่มา https://sites.google.com/site/a5739202007/home/hlak-kar-wad-thangkar-suksa

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น