การเรียนรู้แบบร่วมมือ
การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ
สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกันมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
มีการช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน และมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตน
และส่วนรวม เพื่อให้กลุ่มได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด
องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้แบบร่วมมือ
องค์ประกอบที่สำคัญของการเรียนรู้แบบร่วมมือ ดังนี้
1. ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในทางบวก (Positive
Interdependence) หมายถึง
การที่สมาชิกในกลุ่มทำงานอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน มีการทำงานร่วมกัน
โดยที่สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานนั้น มีการแบ่งปันวัสดุ อุปกรณ์ ข้อมูลต่างๆ
ในการทำงาน ทุกคนมีบทบาท หน้าที่และประสบความสำเร็จร่วมกัน สมาชิกในกลุ่มจะมีความรู้สึกว่าตนประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกทุกคนในกลุ่มประสบความสำเร็จด้วย
สมาชิกทุกคนจะได้รับผลประโยชน์ หรือรางวัลผลงานกลุ่มโดยเท่าเทียมกัน เช่น
ถ้าสมาชิกทุกคนช่วยกัน ทำให้กลุ่มได้คะแนน 90% แล้ว
สมาชิกแต่ละคนจะได้คะแนนพิเศษเพิ่มอีก 5 คะแนน เป็นรางวัล เป็นต้น
2. การมีปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน (Face
To Face Promotive Interaction) เป็นการติดต่อสัมพันธ์กัน
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การอธิบายความรู้ให้แก่เพื่อนในกลุ่มฟัง
เป็นลักษณะสำคัญของการติดต่อปฏิสัมพันธ์โดยตรงของการเรียนแบบร่วมมือ ดังนั้น
จึงควรมีการแลกเปลี่ยน ให้ข้อมูลย้อนกลับ เปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอแนวความคิดใหม่ๆ
เพื่อเลือกในสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
3. ความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละบุคคล (Individual
Accountability) ความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละบุคคล
เป็นความรับผิดชอบในการเรียนรู้ของสมาชิกแต่ละบุคคล
โดยมีการช่วยเหลือส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายกลุ่ม
โดยที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความมั่นใจ และพร้อมที่จะได้รับการทดสอบเป็นรายบุคคล
4. การใช้ทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย (Interdependence
and Small Group Skills) ทักษะระหว่างบุคคล
และทักษะการทำงานกลุ่มย่อย นักเรียนควรได้รับการฝึกฝนทักษะเหล่านี้เสียก่อน
เพราะเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานกลุ่มประสบผลสำเร็จ
นักเรียนควรได้รับการฝึกทักษะในการสื่อสาร การเป็นผู้นำ การไว้วางใจผู้อื่น
การตัดสินใจ การ แก้ปัญหา ครูควรจัดสถานการณ์ที่จะส่งเสริมให้นักเรียน
เพื่อให้นักเรียนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปี ค.ศ. 1991 จอห์นสัน และ จอห์นสัน
ได้เพิ่มองค์ประกอบการเรียนรู้แบบร่วมมือ ขึ้นอีก 1 องค์ประกอบ ได้แก่
5. กระบวนการกลุ่ม (Group Process) เป็นกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนหรือวิธีการที่จะช่วยให้การดำเนินงานกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นั่นคือ สมาชิกทุกคนต้องทำความเข้าใจในเป้าหมายการทำงาน วางแผนปฏิบัติงานร่วมกัน
ดำเนินงานตามแผนตลอดจนประเมินผลและปรับปรุงงาน
องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบร่วมมือทั้ง 5 องค์ประกอบนี้
ต่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
ในอันที่จะช่วยให้การเรียนแบบร่วมมือดำเนินไปด้วยดี
และบรรลุตามเป้าหมายที่กลุ่มกำหนด โดยเฉพาะทักษะทางสังคม ทักษะการทำงานกลุ่มย่อย
และกระบวนการกลุ่มซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการฝึกฝน ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกกลุ่มเกิดความรู้
ความเข้าใจและสามารถนำทักษะเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ จากองค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative
Learning) ซึ่งได้แก่
ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในทางบวก การปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมกันและกัน
ความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละบุคคล การใช้ทักษะระหว่างบุคคล การทำงานกลุ่มย่อย
และกระบวนการกลุ่ม
องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้การเรียนรู้แบบร่วมมือแตกต่างออกไปจากการเรียนรู้เป็นกลุ่มแบบดั้งเดิม
(Traditional Learning) กล่าวคือ
การเรียนเป็นกลุ่มแบบดั้งเดิมนั้น เป็นเพียงการแบ่งกลุ่มการเรียน
เพื่อให้นักเรียนปฏิบัติงานร่วมกัน แบ่งงานกันทำ
สมาชิกในกลุ่มต่างทำงานเพื่อให้งานสำเร็จ เน้นที่ผลงานมากกว่ากระบวนการในการทำงาน
ดังนั้นสมาชิกบางคนอาจมีความรับผิดชอบในตนเองสูง
แต่สมาชิกบางคนอาจไม่มีความรับผิดชอบ ขอเพียงมีชื่อในกลุ่ม มีผลงานออกมาเพื่อส่งครูเท่านั้น
ซึ่งต่างจากการเรียนเป็นกลุ่มแบบร่วมมือที่สมาชิกแต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและต่อเพื่อนสมาชิกในกลุ่มด้วย
รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือ
รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือ ที่ใช้กันในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ
ตัวอย่างเช่น
1. รูปแบบ Jigsaw เป็นการสอนที่อาศัยแนวคิดการต่อภาพ
ผู้เสนอวิธีการนี้คนแรก คือ Aronson et.al (1978
,pp. 22-25) ต่อมามีการปรับและเพิ่มเติมขั้นตอนให้มากขึ้น
แต่วิธีการหลัก ยังคงเดิม
การสอนแบบนี้นักเรียนแต่ละคนจะได้ศึกษาเพียงส่วนหนึ่งหรือหัวข้อย่อยของเนื้อหาทั้งหมด
โดยการศึกษาเรื่องนั้นๆ จากเอกสารหรือกิจกรรมที่ครูจัดให้
ในตอนที่ศึกษาหัวข้อย่อยนั้น
นักเรียนจะทำงานเป็นกลุ่มกับเพื่อนที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาหัวข้อย่อยเดียวกัน
และเตรียมพร้อมที่จะกลับไปอธิบายหรือสอนเพื่อนสมาชิกในกลุ่มพื้นฐานของตนเอง
Jigsaw มีองค์ประกอบที่สำคัญ
3 ส่วน คือ
1.) การเตรียมสื่อการเรียนการสอน (Preparation
Of Materials) ครูสร้างใบงานให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนของกลุ่ม
และสร้างแบบทดสอบย่อยในแต่ละหน่วยการเรียน
แต่ถ้ามีหนังสือเรียนอยู่แล้วยิ่งทำให้ง่ายขึ้นได้
โดยแบ่งเนื้อหาในแต่ละหัวข้อเรื่องที่จะสอนเพื่อทำใบงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญ
ในใบงานควรบอกว่านักเรียนต้องทำอะไร เช่น ให้อ่านหนังสือหน้าอะไร อ่านหัวข้ออะไร
จากหนังสือหน้าไหนถึงหน้าไหน หรือให้ดูวิดีทัศน์ หรือให้ลงมือปฏิบัติการทดลอง
พร้อมกับมีคำถามให้ตอบตอนท้ายของกิจกรรมที่ทำด้วย
2.) การจัดสมาชิกของกลุ่มและของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Teams
And Expert Groups) ครูจะแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ (Home
Groups) แต่ละกลุ่มจะมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องตามใบงานที่ครูสร้างขึ้น
ครูแจกใบงานให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนในกลุ่ม
และให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนศึกษาใบงานของตนก่อนที่จะแยกไปตามกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญ (Expert
Groups) เพื่อทำงานตามใบงานนั้นๆ
เมื่อนักเรียนพร้อมที่จะทำกิจกรรม ครูแยกกลุ่มนักเรียนใหม่ตามใบงาน
กิจกรรมในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญแต่ละกลุ่มอาจแตกต่างกัน
ครูพยายามกระตุ้นให้นักเรียนศึกษาหัวข้อตามใบงานที่แตกต่างกัน
ดังนั้นใบงานที่ครูสร้างขึ้นจึงมีความสำคัญมาก
เพราะในใบงานจะนำเสนอด้วยกิจกรรมที่แตกต่างกัน
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มอาจจะลงมือปฏิบัติการทดลองศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับมอบหมาย
พร้อมกับเตรียมการนำเสนอสิ่งนั้นอย่างสั้นๆ
เพื่อว่าเขาจะได้นำกลับไปสอนสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มที่ไม่ได้ศึกษาในหัวข้อดังกล่าว
3.) การรายงานและการทดสอบย่อย (Reports And
Quizzes) เมื่อกลุ่มผู้เชี่ยวชาญแต่ละกลุ่มทำงานเสร็จแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนก็จะกลับไปยังกลุ่มเดิมของตัวเอง (Home
Group) แล้วสอนเรื่องที่ตัวเองทำให้กับสมาชิกคนอื่นๆ
ในกลุ่ม ครูกระตุ้นให้นักเรียนใช้วิธีการต่างๆ ในการนำเสนอสิ่งที่จะสอน
นักเรียนอาจใช้วิธีการสาธิต อ่านรายงาน ใช้คอมพิวเตอร์ รูปถ่าย ไดอะแกรม
แผนภูมิหรือภาพวาดในการนำเสนอความคิดเห็น
ครูกระตุ้นให้สมาชิกในกลุ่มได้มีการอภิปรายและซักถามปัญหาต่างๆ
โดยที่สมาชิกแต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบในการเรียนรู้แต่ละเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนนำเสนอ
เมื่อผู้เชี่ยวชาญได้รายงานผลงานกับกลุ่มของตัวเองแล้ว
ควรมีการอภิปรายร่วมกันทั้งห้องเรียนอีกครั้งหนึ่ง
หรือมีการถามคำถามและตอบคำถามในหัวข้อเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนได้ศึกษา
หลังจากนั้นครูก็ทำการทดสอบย่อย เกณฑ์การประเมินการให้คะแนนเหมือนกับวิธีการของ
การเรียนแบบร่วมมือของรูปแบบ STAD
วิธีการของ Jigsaw จะดีกว่า
STAD ตรงที่ว่า
เป็นการฝึกให้นักเรียนแต่ละคนมีความรับผิดชอบในการเรียนมากขึ้น
และนักเรียนยังรับผิดชอบกับการสอนสมาชิกคนอื่นๆ ของกลุ่มอีกด้วย นักเรียนไม่ว่าจะมีความสามารถมากน้อยแค่ไหนจะต้องรับผิดชอบเหมือนๆ
กัน ถึงแม้ว่าความลึกความกว้างหรือคุณภาพของรายงานจะแตกต่างกันก็ตาม
ขั้นตอนการสอนแบบ Jigsaw
มีดังนี้
ขั้นที่ 1
ครูแบ่งหัวข้อที่จะเรียนเป็นหัวข้อย่อยเท่าจำนวนสมาชิกของแต่ละกลุ่ม ถ้ากลุ่มขนาด
3 คน ให้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน
ขั้นที่ 2 จัดกลุ่มนักเรียนให้มีสมาชิกที่มีความสามารถคละกัน
เป็นกลุ่มพื้นฐานหรือ Home Groups จำนวนสมาชิกในกลุ่มอาจเป็น
3 หรือ 4 คนก็ได้ จากนั้นแจกเอกสารหรืออุปกรณ์การสอนให้กลุ่มละ 1 ชุด
หรือให้คนละชุดก็ได้ กำหนดให้สมาชิกแต่ละคนรับผิดชอบอ่านเอกสารเพียง 1
ส่วนที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น หากแต่ละกลุ่มได้รับเอกสารเพียงชุดเดียว
ให้นักเรียนแยกเอกสารออกเป็นส่วนๆ ตามหัวข้อย่อย ดังนี้ ในแต่ละกลุ่ม
นักเรียนคนที่ 1
จะอ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 1
นักเรียนคนที่ 2
จะอ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 2
นักเรียนคนที่ 3
จะอ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 3
ขั้นที่ 3 เป็นการศึกษาในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Expert
Groups)
นักเรียนจะแยกย้ายจากกลุ่มพื้นฐาน (Home
Group) ไปจับกลุ่มใหม่เพื่อทำการศึกษาเอกสารส่วนที่ได้รับมอบหมาย
โดยคนที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาเอกสารหัวข้อย่อยเดียวกัน จะไปนั่งเป็นกลุ่มด้วยกัน
กลุ่มละ 3 หรือ 4 คน แล้วแต่จำนวนสมาชิกของกลุ่มที่ครูกำหนด
ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ สมาชิกจะอ่านเอกสาร
สรุปเนื้อหาสาระ จัดลำดับขั้นตอนการนำเสนอ เพื่อเตรียมทุกคนให้พร้อมที่จะไปสอนหัวข้อนั้น
ที่กลุ่มเดิมของตนเอง
ขั้นที่ 4 นักเรียนแต่ละคนในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลับกลุ่มเดิมของตน
แล้วผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอธิบายให้เพื่อนในกลุ่มฟังทีละหัวข้อ
มีการซักถามข้อสงสัย ตอบปัญหา ทบทวนให้เข้าใจชัดเจน
ขั้นที่ 5 นักเรียนแต่ละคนทำแบบทดสอบเกี่ยวกับเนื้อหาทั้งหมดทุกหัวข้อ
แล้วนำคะแนนของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มมารวมกันเป็นคะแนนกลุ่ม
ขั้นที่ 6 กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด จะได้รับรางวัล หรือการชมเชย
การสอนแบบ Jigsaw
เป็นการสอนที่อาจนำไปใช้ในการทบทวนเนื้อหาที่มีหลายๆ
หัวข้อ หรือใช้กับบทเรียนที่เนื้อหาแบ่งแยกเป็นส่วนๆ ได้
และเป็นเนื้อหาที่นักเรียนศึกษาจากเอกสารและสื่อการสอนได้
สรุปขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนแบบ Jigsaw
1.
ครูและนักเรียนทบทวนเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องที่จะเรียนแล้วครูจัดกลุ่มนักเรียนเป็น Home
Group
กลุ่ม A
กลุ่ม
B กลุ่ม C
กลุ่ม
D
1) ด.ญ. ก 1) …………..
1)……………. 1)……………
2) ด.ญ. ข 2) …………..
2)……………. 2)……………
3) ด.ญ. ค 3) …………..
3)……………. 3)……………
4) ด.ญ. ง 4) …………..
4)……………. 4)……………
2. ครูแจกใบงานให้ทุกกลุ่ม กลุ่มละ 4 แบบฝึก ซึ่งแต่ละใบงานเป็นหัวข้อย่อยๆ
ไม่เหมือนกันอาจจะเป็น 4 ระดับก็ได้ (ง่าย®ยาก)
สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มเลือกคนละ 1 ใบงาน โดยแต่ละคนในกลุ่มจะได้ใบงานไม่เหมือนกัน
เช่น นักเรียนกลุ่ม A จะแบ่งหน้าที่กันดังนี้
นักเรียน A1
อ่านและทำใบงานที่ 1
นักเรียน A2
อ่านและทำใบงานที่ 2
นักเรียน A3
อ่านและทำใบงานที่ 3
นักเรียน A4
อ่านและทำใบงานที่ 4
3. นักเรียนที่ได้ใบงานชุดเดียวกันจากแต่ละกลุ่มมานั่งด้วยกัน เพื่อทำงาน
ซักถามและทำ
กิจกรรมในใบงาน เรียกกลุ่มนี้ว่า Expert
Groups โดยแต่ละคนในกลุ่มแบ่งหน้าที่กันทำงาน
เช่น
นักเรียนคนที่ 1 อ่านคำแนะนำ
คำสั่งหรือโจทย์ในแบบฝึก
นักเรียนคนที่ 2
จดบันทึกข้อมูลสำคัญ แยกแยะสิ่งที่ต้องทำตามลำดับ
นักเรียนคนที่ 3 หาคำตอบ
นักเรียนคนที่ 4 สรุปทบทวน
และตรวจสอบคำตอบ
เมื่อนักเรียนทำแต่ละข้อหรือแต่ละส่วนเสร็จแล้ว
ให้นักเรียนหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าที่กันจนเสร็จใบงานทั้งหมด
4. นักเรียนแต่ละคนใน Expert Groups กลับมายังกลุ่มเดิม
(Home Groups) ของตนผลัดกันอธิบายให้เพื่อนสมาชิกในกลุ่มฟัง
เริ่มจากแบบฝึกที่ 1, 2,
3,
4
(ง่าย®ยาก)
5. ครูทำการทดสอบนักเรียนทุกคนในห้องเป็นรายบุคคลแล้ว
นำคะแนนพัฒนาการของแต่ละคนในกลุ่มมารวมเป็น “คะแนนกลุ่ม”
กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รางวัลหรือติดประกาศไว้ในบอร์ด
2. รูปแบบ STAD
(Student Teams-Achievement Division)
Slavin ได้เสนอรูปแบบการเรียนแบบเป็นทีม (Student
Teams Learning Method) ซึ่งมี 4 รูปแบบ คือ Student
Teams-Achievement Divisions (STAD) และ Teams-Games-Tournaments
(TGT) ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามารถปรับใช้กับทุกวิชาและระดับชั้น
Team Assisted Individualization (TAI) เป็นรูปแบบที่เหมาะกับการสอนวิชาคณิตศาสตร์
และ Cooperative Integrated Reading and
Composition (CIRC) ซึ่งเป็นรูปแบบในการสอนอ่านและ
การเขียน
หลักการพื้นฐานของรูปแบบการเรียนแบบเป็นทีม
ของSlavin ประกอบด้วย
1.) การให้รางวัลเป็นทีม (Team Rewards) ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการวางเงื่อนไขให้นักเรียนพึ่งพากัน
จัดว่าเป็น Positive Interdependence
2.) การจัดสภาพการณ์ให้เกิดความรับผิดชอบในส่วนบุคคลที่จะเรียนรู้ (Individual
Accountability) ความสำเร็จของทีมหรือกลุ่ม
อยู่ที่การเรียนรู้ของสมาชิกแต่ละคนในทีม
3.) การจัดให้มีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะประสบความสำเร็จ (Equal
Opportunities For Success) นักเรียนมีส่วนช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จด้วยการพยายามทำผลงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมในรูปของคะแนนปรับปรุง
ดังนั้น แม้แต่คนที่เรียนอ่อนก็สามารถมีส่วนช่วยทีมได้
ด้วยการพยายามทำคะแนนให้ดีกว่าครั้งก่อนๆ นักเรียนทั้งเก่ง ปานกลาง
และอ่อนต่างได้รับการส่งเสริมให้ตั้งใจเรียนให้ดีสุด
ผลงานของทุกคนในทีมมีค่าภายใต้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนแบบนี้
สำหรับรูปแบบ STAD
เป็นรูปแบบหนึ่งที่
Slavin ได้เสนอไว้ เมื่อปี
ค.ศ. 1980 นั้นมี องค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการ คือ
1. การนำเสนอสิ่งที่ต้องเรียน (Class
Presentation) ครูเป็นผู้นำเสนอสิ่งที่นักเรียนต้องเรียน
ไม่ว่าจะเป็นมโนทัศน์ ทักษะและ/หรือกระบวนการ
การนำเสนอสิ่งที่ต้องเรียนนี้อาจใช้การบรรยาย การสาธิตประกอบการบรรยาย
การใช้วิดีทัศน์หรือแม้แต่การให้นักเรียนลงมือปฏิบัติการทดลองตามหนังสือเรียน
2. การทำงานเป็นกลุ่ม (Teams) ครูจะแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ
แต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยนักเรียนประมาณ 4-5 คน ที่มีความสามารถแตกต่างกัน
มีทั้งเพศหญิงและเพศชาย และมีหลายเชื้อชาติ
ครูต้องชี้แจงให้นักเรียนในกลุ่มได้ทราบถึงหน้าที่ของสมาชิกในกลุ่มว่านักเรียนต้องช่วยเหลือกัน
เรียนร่วมกัน อภิปรายปัญหาร่วมกัน ตรวจสอบคำตอบของงานที่ได้รับมอบหมายและแก้ไขคำตอบร่วมกัน
สมาชิกทุกคนในกลุ่มต้องทำงานให้ดีที่สุดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้
ให้กำลังใจและทำงานร่วมกันได้
หลังจากครูจัดกลุ่มเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรให้นักเรียนแต่ละกลุ่มทำงานร่วมกันจากใบงานที่ครูเตรียมไว้
ครูอาจจัดเตรียมใบงานที่มีคำถามสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบทเรียน
เพื่อใช้เป็นบทเรียนของการเรียนแบบร่วมมือ ครูควรบอกนักเรียนว่า
ใบงานนี้ออกแบบมาให้นักเรียนช่วยกันตอบคำถาม เพื่อเตรียมตัวสำหรับการทดสอบย่อย
สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มจะต้องช่วยกันตอบคำถาม เพื่อเตรียมตัวสำหรับการทดสอบย่อย
สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มจะต้องช่วยกันตอบคำถามทุกคำถาม โดยแบ่งกันตอบคำถามเป็นคู่ๆ
และเมื่อตอบคำถามเสร็จแล้วก็จะเอาคำตอบมาแลกเปลี่ยนกัน
โดยสมาชิกแต่ละคนจะต้องมีความรับผิดชอบซึ่งกันและกันในการตอบคำถามแต่ละข้อให้ได้
ในการกระตุ้นให้สมาชิกแต่ละคนมีความรับผิดชอบซึ่งกันและกันควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
2.1
ต้องแน่ใจว่าสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มสามารถตอบคำถามแต่ละข้อได้อย่างถูกต้อง
2.2
ให้นักเรียนช่วยกันตอบคำถามทุกข้อให้ได้โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนนอกกลุ่ม
หรือขอความช่วยเหลือจากครูให้น้อยลง
2.3
ต้องให้แน่ใจว่าสมาชิกแต่ละคนสามารถอธิบายคำตอบแต่ละข้อได้
ถ้าคำถามแต่ละข้อเป็นแบบเลือกตอบ
3. การทดสอบย่อย (Quizzes) หลังจากที่นักเรียนแต่ละกลุ่มทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ครูก็ทำการทดสอบย่อยนักเรียน โดยนักเรียนต่างคนต่างทำ
เพื่อเป็นการประเมินความรู้ที่ นักเรียนได้เรียนมา
สิ่งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นความรับผิดชอบของนักเรียน
4. คะแนนพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคน (Individual
Improvement Score) คะแนนพัฒนาการของนักเรียนจะเป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนทำงานหนักขึ้น
ในการทดสอบแต่ละครั้งครูจะมีคะแนนพื้นฐาน (Base
Score) ซึ่งเป็นคะแนนต่ำสุดของนักเรียนในการทดสอบย่อยแต่ละครั้ง
ซึ่งคะแนนพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคนได้จากความแตกต่างระหว่างคะแนนพื้นฐาน
(คะแนนต่ำสุดในการทดสอบ) กับคะแนนที่นักเรียนสอบได้ในการทดสอบย่อยนั้นๆ
ส่วนคะแนนของกลุ่ม (Team Score) ได้จากการรวมคะแนนพัฒนาการของนักเรียนทุกคนในกลุ่มเข้าด้วยกัน
5. การรับรองผลงานของกลุ่ม (Team
Recognition) โดยการประกาศคะแนนของกลุ่มแต่ละกลุ่มให้ทราบ
พร้อมกับให้คำชมเชย
หรือให้ประกาศนียบัตรหรือให้รางวัลกับกลุ่มที่มีคะแนนพัฒนาการของกลุ่มสูงสุด
โปรดจำไว้ว่า
คะแนนพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคนมีความสำคัญเท่าเทียมกับคะแนนที่นักเรียนแต่ละคนได้รับจากการทดสอบ
สำหรับขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
เป็นดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นสอน ครูดำเนินการสอนเนื้อหา
ทักษะหรือวิธีการเกี่ยวกับบทเรียนนั้นๆ อาจเป็นกิจกรรมที่ครูบรรยาย สาธิต
ใช้สื่อประกอบการสอน หรือให้นักเรียนทำกิจกรรมการทดลอง
ขั้นที่ 2 ขั้นทบทวนความรู้เป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วยสมาชิก 4-5 คน
ที่มีความสามารถทางการเรียนต่างกัน สมาชิกในกลุ่มต้องมีความเข้าใจว่า
สมาชิกทุกคนจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือกันและกันในการศึกษาเอกสารและทบทวนความรู้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบย่อย
ครูเน้นให้นักเรียนทำดังนี้
ก. ต้องให้แน่ใจว่า สมาชิกทุกคนในกลุ่มสามารถตอบคำถามได้ถูกต้องทุกข้อ
ข. เมื่อมีข้อสงสัยหรือปัญหา
ให้นักเรียนช่วยเหลือกันภายในกลุ่มก่อนที่จะถามครูหรือถามเพื่อนกลุ่มอื่น
ค.
ให้สมาชิกอธิบายเหตุผลของคำตอบของแต่ละคำถามให้ได้
โดยเฉพาะแบบฝึกหัดที่เป็นคำถามปรนัยแบบให้เลือกตอบ
ขั้นที่ 3 ขั้นทดสอบย่อย ครูจัดให้นักเรียนทำแบบทดสอบย่อย
หลังจากนักเรียนเรียนและทบทวนเป็นกลุ่มเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนด
นักเรียนทำแบบทดสอบคนเดียวไม่มีการช่วยเหลือกัน
ขั้นที่ 4 ขั้นหาคะแนนพัฒนาการ คะแนนพัฒนาการเป็นคะแนนที่ได้จากการพิจารณาความแตกต่างระหว่างคะแนนที่ต่ำสุดการทดสอบครั้งก่อนๆ
กับคะแนนที่ได้จากการทดสอบครั้งปัจจุบัน
เมื่อได้คะแนนพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคนแล้ว
จึงหาคะแนนพัฒนาการของกลุ่ม ซึ่งได้จากการนำคะแนนพัฒนาการของสมาชิกแต่ละคนมารวมกัน
หรือหาค่าเฉลี่ยของคะแนนพัฒนาการของสมาชิกทุกคน
ขั้นที่ 5 ขั้นให้รางวัลกลุ่ม
กลุ่มที่ได้คะแนนปรับปรุงตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับคำชมเชยหรือติดประกาศที่บอร์ดในห้องเรียน
ตัวอย่างเกณฑ์การได้รับรางวัลมีดังนี้
คะแนนพัฒนาการเฉลี่ยของกลุ่ม ระดับรางวัล
15
ดี
20
ดีมาก
25
ดีเยี่ยม
การจัดกิจกรรมรูปแบบ STAD อาจนำไปใช้กับบทเรียนใดๆ
ก็ได้ เนื่องจากขั้นแรกเป็นการสอนที่ครูดำเนินการตามปกติ
แล้วจึงจัดให้มีการทบทวนเป็นกลุ่ม
3. รูปแบบ LT
(Learning Together)
รูปแบบ LT (Learning Together) นี้
Johnson & Johnson เป็นผู้เสนอในปี
ค.ศ. 1975 ต่อมาในปี ค.ศ. 1984 เขาเรียกรูปแบบนี้ว่า วัฏจักรการเรียนรู้ (Circles
of Learning) รูปแบบนี้มีการกำหนดสถานการณ์และเงื่อนไขให้นักเรียนทำผลงานเป็นกลุ่ม
ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันเอกสาร การแบ่งงานที่เหมาะสม
และการให้รางวัลกลุ่ม
ซึ่งจอห์นสันและจอห์นสันได้เสนอหลักการจัดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ไว้ว่า
การจัดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือตามรูปแบบ
LT จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้
1. สร้างความรู้สึกพึ่งพากัน (Positive
Interdependence) ให้เกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียนซึ่งอาจทำได้หลายวิธี
คือ
1.1
กำหนดเป้าหมายร่วมของกลุ่ม (Mutual Goals) ให้ทุกคนต้องเรียนรู้เหมือนกัน
1.2
การให้รางวัลรวม เช่น ถ้าสมาชิกทุกคนของกลุ่มได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 90
ขึ้นไปของคะแนนเต็ม (Joint Rewards) สมาชิกในกลุ่มนั้นจะได้คะแนนพิเศษอีกคนละ
5 คะแนน
1.3
ให้ใช้เอกสารหรือแหล่งข้อมูล (Share
Resources) ครูอาจแจกเอกสารที่ต้องใช้เพียง 1 ชุด
สมาชิกแต่ละคนจะต้องช่วยกันอ่านโดยแบ่งเอกสารออกเป็นส่วนๆ
เพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ
1.4
กำหนดบทบาทของสมาชิกในการทำงานกลุ่ม (Assigned
Roles) งานที่มอบหมายแต่ละงานอาจกำหนดบทบาทการทำงานของสมาชิกในกลุ่มแตกต่างกัน
หากเป็นงานเกี่ยวกับการตอบคำถามในแบบฝึกหัดที่กำหนด
ครูอาจกำหนดบทบาทของสมาชิกในกลุ่มเป็นผู้อ่านคำถาม ผู้ตรวจสอบ ผู้กระตุ้นให้สมาชิกช่วยกันคิดหาคำตอบและผู้จดบันทึกคำตอบ
2. จัดให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน (Face-To-Face
Interaction) ให้นักเรียนทำงานด้วยกันภายใต้บรรยากาศของความช่วยเหลือและส่งเสริมกัน
3. จัดให้มีความรับผิดชอบในส่วนบุคคลที่จะเรียนรู้ (Individual
Accountability)เป็นการทำให้นักเรียนแต่ละคนตั้งใจเรียนและช่วยกันทำงาน
ไม่กินแรงเพื่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น